หญ้าหวาน (STEVIA)

หญ้าหวาน  หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Stevia เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิลและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัยในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งแน่นอนว่าชาวพื้นเมืองในประเทศปารากวัยก็รู้จักนำหญ้าหวานมาสกัดเพื่อใช้ในการบริโภคหลายศตวรรษแล้ว ทางประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาก็ให้การยอมรับแล้วเช่นกัน

เป็นพืชที่มีรสชาติหวาน มากกว่าน้ำตาลถึง 15-20 เท่า แต่ความหวานนี้ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน (Calories) จึงไม่ทำให้อ้วนและผู้ป่วยเบาหวานก็สามารถทานได้ ที่สำคัญสารสกัดของหญ้าหวาน (Steviol Glycosides) ที่สกัดออกมานั้นจะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 300 เท่าเลยทีเดียว จึงเหมาะสำหรับนำไปประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย หญ้าหวานได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในภายหลัง และได้มีการนำเข้ามาปลูกในช่วงปี พ.ศ.2518 โดยได้มีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ ซึ่งจะเพาะปลูกกันมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน เนื่องจากพืชนิดนี้จะชอบอากาศที่ค่อนข้างเย็น ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส และพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร

 

ต้นของหญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุก มีอายุประมาณ 3 ปี มีลักษณะเป็นพุ่มไม้ มีความสูง 30-90 cm. ชอบอุณหภมิที่เย็น แต่ต้องโดนแดดรำไรเพราะถ้าไม่โดนเลยจะทำให้รากเน่า ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดกับกิ่งชำ แต่ส่วนมากจะชำกิ่งเพราะถ้าปล่อย ให้ต้นมีเมล็ดต้นแม่ก็จะตาย วิธีนี้เลยไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา

ส่วน ใบหญ้าหวาน เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ใบจะมีลัษณะ คล้ายใบกะเพราหรือโหระพา ขอบใบคล้ายฟันเลื่อย ส่วนนี้จะมีรสหวานมาก ที่สุด

และ ดอกของหญ้าหวาน จะมีสีขาว ดอกเล็กรวมกันเป็นช่อ เกสรตัวผู้จะยื่นงอออกมา แต่ส่วนมากจะไม่นิยม ให้เกิดดอก เพราะจะตัดใบหญ้าหวานออกก่อนเม่ือครบกำหนดตัด ทุก 45 วัน

 

สรรพคุณของหญ้าหวาน
1. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยเบาหวานหรือต้องการควบคุมระดับน้ำตาล
2. ช่วยลดความดันโลหิตสูง
3. ช่วยลดไขมันในเลือดสูง
4. ช่วยบำรุงตับอ่อน ให้การทำงานดีขึ้น
5. ช่วยเพิ่มน้ำนมคุณแม่หลังคลอดบุตร
6. ช่วยเพิ่มกำลังวังชา ความสดชื่นให้กับร่างกาย 


เกล็ดความรู้ ที่คุณอาจจะยังไม่รู้
1. ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีการขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้สารสตีวิโอไซด์เพื่อการบริโภคแทนน้ำตาลได้ เพราะมีความปลอดภัยสูง มีพิษเฉียบพลันต่ำ ไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงใด ๆ

2. โดยธรรมชาติของใบหญ้าหวานนั้นจะให้รสหวาน แต่ไม่เหมือนกับน้ำตาลซะทีเดียว มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์และรสชาตินั้นจะไม่ได้หวานแหลมเหมือนกับน้ำตาล อาจมีรสขมถ้าหากต้มนานเกินไป แต่ถ้านำมาสกัด ก็จะได้สารให้ความหวานจากหญ้าหวานนั่นเอง

 

กว่าจะมาเป็น หญ้าหวาน ในวันนี้

หญ้าหวานมีการใช้กันอย่างกว้างขวางโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกาใต้ เมื่อปี ค.ศ.1887 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีรายงานว่ามันเป็นอันตรายแต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมาในปี ค.ศ. 1985 ก็ได้มีผลงานวิจัยทางด้านลบของหญ้าหวานออกมา โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ John M. Pezzuto และคณะ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้สรุปผลการวิจยัและตีพิมพ์ลงในวารสาร Proc. Nati. Acad. Sci. โดยระบุว่าหญ้าหวานนั้นอันตราย เพราะทำให้เกิดการ Mutagenic สูงมากในหนูทดลอง ซึ่งจากผลงานวิจัยนี้เอง ส่งผลให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐ(FDA) ออกมาประกาศว่าหญ้าชนิดไม่ปลอดภัย และห้ามใช้เป็นสารปรุงแต่งในอาหาร และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ต่อมาในปี ค.ศ.1991 มีนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า Emily Procinska และคณะ ได้ออกมาค้นคว้ารายงานวิจัยของ John M. Pezzuto ว่าอาจมีข้อผิดพลาด โดยตีพิมพ์ในวารสาร Mutagenesis ระบุว่า หญ้าหวานไม่มีผลทำให้เกิด Mutagenic แต่อย่างใด ทั้งนี้ได้ทำการทดลองซ้ำอยู่หลายครั้ง หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้มีรายงานต่าง ๆ ออกตามมาอีกมากมายที่ระบุว่าผลของ mutagenic ในสารสกัดหญ้าหวานมีผลน้อยมาก หรืออาจจะมีผลบ้างเล็กน้อย และต่อมาได้มีการตรวจสอบความเป็นพิษพบว่า งานวิจัยส่วนมากระบุว่าหญ้าหวานไม่มีพิษ และไม่มีหลักฐานใด ๆ ระบุว่าหญ้าชนิดนี้อาจจะทำให้เกิดข้อบกพร่องหรือเกิดโรคมะเร็งแต่อย่างใด แต่กระนั้นก็ตาม FDA ของสหรัฐเองก็ยังไม่สั่งระงับการห้ามใช้หญ้าหวานแต่อย่างใด จนในที่สุดองค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization) ได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย และได้รายงานการประเมินผลอย่างละเอียดจากงานวิจัยต่าง ๆ และได้ระบุว่าหญ้าชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และในที่สุดเมื่อปี ค.ศ.2009 ที่ผ่านมา FDA สหรัฐฯ ก็ได้มีการประกาศว่าหญ้าหวานเป็นพืชที่ปลอดภัย และให้การยอมรับว่าเป็น GRAS (Generally Recognized As Safe)

Powered by MakeWebEasy.com